Software Park News

สวทช. พร้อมพันธมิตร ร่วมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี และแนวทางการใช้ ChatGPT และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปี 67

(8 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สถาบันไอเอ็มซี สมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บริษัท โค้ดคิท อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด จัดงานสัมมนาหัวข้อ “Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates 2024” เพื่ออัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าจับตามองในปี 2567 รวมถึงแนวทางการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องระวังเพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียทั้งต่อตัวบุคคลและองค์กร พร้อมเผยวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือ Generative AI อย่าง ChatGPT เพื่อเพิมประสิทธิภาพในด้านการทำงานและด้านการศึกษา และเทรนด์ของ Cross Platform Development ที่โปรแกรมเมอร์ควรทราบ

ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประธานเปิดงานสัมมนาฯ กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจในการพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนประเทศผ่านเครือข่าย ความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ สวทช. มีเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันการสร้างผู้ประกอบการ การพัฒนาบุคลากร การจ้างงาน ทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ Food Innopolis อีกทั้งโปรแกรมต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนและยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งบุคลากร SME สตาร์ตอัป และภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้สามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้

โดยในปีนี้ สวทช. วางแผนผลักดันเรื่อง BCG Implementation เป็นภารกิจสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นการตอบสนองต่อเป้า BCG ของประเทศทั้ง 4 มิติ ได้แก่ การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเอง

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่ออัปเดตแนวทาง แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้เรื่องแนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยี และภัยคุกคามทางดิจิทัลที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมไปถึงให้ความรู้ด้านอาชีพและทักษะที่ตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นที่ต้องการในปี 2567 เพื่อให้องค์กรและบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้มีแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ วางแผน และเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

และในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้จัดกิจกรรมอบรมและสัมมนา เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากกว่า 2,500 รายผ่านหลักสูตรและโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหารระดับสูง นักพัฒนา หรือกลุ่มของผู้ที่ต้องการได้รับประกาศนียบัตรในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสนับสนุนผู้ประกอบการทางธุรกิจเทคโนโลยีให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลของประเทศในอนาคต ตลอดจนบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ให้บริการพื้นที่สำนักงาน ห้องอบรม/สัมมนา และ ARI Co-InnoSpace อีกด้วย

ภายในงานสัมมนาฯ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี ได้เล่าถึงความน่าสนใจเกี่ยวกับ Top 10 Technology และแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2024 นายสมหมาย กรังพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี เอ็น พี โซลูชั่น จำกัด และกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย (ATSI) อัปเดตถึง Development Platform ที่บุคลากรในสายไอทีและโปรแกรมเมอร์จำเป็นต้องรู้ นายไพบูลย์ พนัสบดี CTO บริษัท โค้ดคิท อินโนเวชั่น จำกัด และ ดร.เด่นเดช รักษ์รัตนตรัย วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ Generative AI อย่าง ChatGPT เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการทำงานขององค์กรและด้านการศึกษา ปิดท้ายด้วย นายปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ได้แชร์ประสบการณ์และวิธีการป้องกันจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

สำหรับผู้สนใจในบริการทางด้านการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาผู้ประกอบการ หรือกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงบริการด้านพื้นที่ของทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก: Software Park Thailand , www.swpark.or.th หรือ โทร. 02-583-9992, 02-564-7000