Software Park News
Hubba ชี้ Co-Working Space โตขาขึ้น ด้านซอฟต์แวร์พาร์คพร้อมเปิด Co-Working Space รองรับ S-Curve อีโคซิสเต็ม
ภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และธุรกิจในยุคดิจิทัล ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับธุรกิจ องค์กร ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และหน่วยงานต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนการทำงาน นับตั้งแต่ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การทำงานจากร้านกาแฟหรือ ที่อื่นๆ โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งมีการลดขนาดพื้นที่สำนักงาน มีการลดต้นทุนในการบริหารธุรกิจ ทำให้ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ มาใช้บริการ Co-Working Space กันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา (Work from Anywhere) และยังสามารถที่จะมาใช้พื้นที่ส่วนรวมของ Co-Working Space ในการต่อยอดธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน เข้ารับการอบรม หาพันธมิตรเพื่อร่วมธุรกิจ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำธุรกิจ จากปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้การทำงานและการทำธุรกิจมีการใช้บริการ Co-Working Space มากขึ้น ทั้งในตลาดโลกและประเทศไทย
จากรายงานการสำรวจอัตราการเติบโตของตลาด Co-Working Spade ของ Research and Markets พบว่าในปี 2564 ขนาดของธุรกิจ Co-Working Space ทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 21.15 พันล้านเหรียญสหรัฐจากเดิมในปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 19.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่มูลค่าจะสูงถึง 32.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า สำหรับตลาดในประเทศไทย ในปีนี้คาดว่าตลาด Co-Working Space มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากในช่วงโควิดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีการปิดตัวของผู้ให้บริการ Co-Working Space กว่าร้อยละ 80 และภาคธุรกิจ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และหน่วยงานต่างๆ สนใจที่จะมาใช้บริการ Co-Working Space ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดหรือเพิ่มขนาดการใช้พื้นที่ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง
นายชาล เจริญพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Hubba บริษัทเอกชนผู้ให้บริการ Co-Working Space เจ้าแรกของไทย กล่าวว่า “ ภาพรวมตลาด Co-Working Space ดีขึ้น เพราะในช่วงนี้ธุรกิจต้องการความยืดหยุ่น และออฟฟิศใช้เช่า (Office Building) ไม่ตอบโจทย์เพราะว่าออฟฟิศให้เช่าต้องออกแบบเอง ดูแลเอง แม้ว่าค่าเช่าจะไม่แพงมาก จะต้องมีสัญญาเช่าสามปี จากสถานการณ์ปัจจุบันขนาดบริษัทยังไม่นิ่ง คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะใช้พื้นที่การทำงานมากขึ้น หรือลดลงเท่าไหร่ และมีเรื่องการทำงานแบบรีโมท 100 เปอร์เซ็นต์ หรือการให้กลับมาทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ น่าจะมีความลำบากในการที่จะคำนวณพื้นที่ Co- Working Space จึงเป็นทางเลือก (Option) ที่ดีเพราะมีความยืดหยุ่น สามารถที่จะเพิ่มหรือลดขนาดพื้นที่ในการทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้ความต้องการ (Demand) มีมากขึ้น จากบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้การติดต่อเข้ามาขอใช้บริการมากกว่า ช่วงสถานการณ์โควิด ”
“ ในปีนี้คนที่ติดต่อเข้ามามากกว่าช่วงโควิดอีก มีประเด็นคือว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน ลูกค้าเราไม่มีลูกค้าใหม่เกิดขึ้น เป็นคนเก่าที่เขามีธุรกิจแล้วที่เขากำลังต้องการจะย้ายออฟฟิศซึ่งเพราะโควิดมันทำให้คนอยากจะย้าย พร้อมกันจำนวนมากๆ ในช่วงช่วงหนึ่ง ผมว่าตัวนี้มันมีดีมานตลอดแต่ว่ามันขึ้นลงตามแต่สถานการณ์ ส่วน Hubba เอง เราก็ปิดสาขาที่เราต้องเช่า แต่ว่าบิสซิเนสโมเดลของเรามันค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย บางที่เราเป็นแบบให้บริการบริหารจัดการ (Management Service) เราไม่ได้เช่าเองเราบริหารให้เจ้าของที่ดิน ในย่านนั้นและยังเปิดต่อไปได้ ถ้าเจ้าของที่ดินยังสู้ต่อ เมื่อโควิดมันหายหลายคนอาจจะ มาเปิดใหม่ ” นายชาล กล่าวต่อว่า “ ในส่วนของผู้ให้บริการ Co-Working Space หรือ ซัพพลายในช่วงโควิดมีการปิดกิจการกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทย ยังสามารถอยู่รอดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อผู้ให้บริการลดลง ความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเติบโตในปีนี้เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าเท่าตัว ทำให้ธุรกิจหลายรายจะกลับเข้ามาเปิดให้บริการใหม่ด้วย ซึ่งตลาด Co-Working Space ในประเทศไทยในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท มีผู้ให้บริการ Co-Working Space ประมาณ 100 ราย ”
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) หนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุน สตาร์ทอัพ ธุรกิจซอฟต์แวร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ต้องการสร้างธุรกิจ S-Curve ในประเทศไทย ในปีนี้ ซอฟต์แวร์พาร์คมีแผนที่จะเปิด Co-Working Space ภายใต้ชื่อ ARI Co-Innovation Space เพื่อให้บริการเช่าพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจที่กำลังมองหาพื้นที่ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ในเดือนกันยายนนี้
ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า “ ARI Co-Innovation Space หรือ ARI Co-InnoSpace จะเป็นแหล่งรวมให้กับผู้ประกอบการอินโนเวย์ตอร์ (Innovator) หรือ สตาร์ทอัพ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ของซอฟต์แวร์พาร์ค สิ่งที่เราหวังมากที่สุดก็คือว่าถ้าคุณมีไอเดียเข้ามาทำงานในพื้นที่ ที่เราเตรียมไว้ให้และใช้เครื่องมือลองทำเดโม่ (Demo) และใช้ฟาซิลิตี้ (Facility) ของเราที่เตรียมไว้ เราไม่ใช่ให้แค่พื้นที่ เราให้เครื่องไม้เครื่องมือ และให้เน็ตเวิร์กกิ้ง (Networking) ซึ่งคิดว่าอันนี้สำคัญมาก ตอนนี้รู้สึกว่าคนไทยตื่นตัวกับอินโนเวชั่นเยอะมากตั้งแต่มีโควิด ” ดร. ภัทราวดี กล่าวเสริมว่า “ สิ่งที่ซอฟต์แวร์พาร์ค จะให้บริการจะเป็นพื้นที่ที่ให้บริการครบวงจร (One Stop Service) ที่จะทำให้ความคิด จินตนาการ และความฝัน ของผู้ประกอบการเป็นความจริงโดยใช้เครื่องมือและเครือข่ายของซอฟต์แวร์พาร์ค “ เราอยากจะร่วมมือกับเอกชนต่างๆ ที่ให้บริการ Co-Working Space เพราะว่าเรามีเครื่องมือและเครือข่าย อย่าง Hubba มีโลเคชั่นที่อยู่คนละที่กันอาจจะมีการแลกเปลี่ยนเครือข่ายผู้ประกอบการกัน เป็นความร่วมมือกันเพื่อเอื้อธุรกิจ เพื่อรองรับการทำงานจากทุกที่ (Work Anywhere) ” ดร. ภัทราวดี กล่าว
ด้านนายณัฐพล นุตคำแหง รองผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเศไทย กล่าวว่า “ Co-Working Space เป็นกลไกหนึ่งของซอฟต์แวร์พาร์ค ในการมีส่วนร่วมในการผลักดัน อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ (Automation) นวัตกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) และ ระบบอัจฉริยะ (Intelligence System) หรือ ARI ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่มีเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi ARI Polis) ฉะนั้นจากเดิมที่ซอฟต์แวร์พาร์ค เป็นหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนซอฟต์แวร์อย่างกว้างขวาง สู่การสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อสนับสนุนสตาร์อัพ หรือธุรกิจในการพัฒนาทางด้าน ARI รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในรูปแบบของ Gateway to ARI Polis ” และซอฟต์แวร์พาร์ค ยังมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ธุรกิจต่างๆ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการเริ่มต้น สามารถมาเริ่มต้นธุรกิจได้ที่นี่
อย่างไรก็ตามในส่วนของบริการ Co-Working Space นั้น ซอฟต์แวร์พาร์คมีแผนที่จะทดลองเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้และร่วมกับพันธมิตรในการอำนวยความสะดวกให้กับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ บุคคลทั่วไป และธุรกิจที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจ ARI และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรกับ Thailand Science Park และหน่วยงานอื่นเพื่อรองรับกับความต้องการของสตาร์ทอัพ รวมถึง เอสเอ็มอี
“ARI Co-Innovation Space ไม่ใช่พื้นที่ที่ให้บริการแค่คนมานั่งทำงานอย่างเดียว เรามีเครื่องมือรองรับนักพัฒนา อาทิ เทคโนโลยีไอโอที (Internet of Thing) อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น 3D พริ้นเตอร์ แขนกลสำหรับทดลองและทดสอบสำหรับต้นแบบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องวัดทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซอฟต์แวร์พาร์คเรามีความเชื่อมโยงกับ Thailand Science Park ใน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เราเป็นเครื่องมือเบื้องต้นและมีเครือข่ายในการส่งต่อ มีความเชื่อมโยงเป็น Match Maker เป็นจุดเริ่มต้นแรก เราโฟกัสในเรื่องของการสร้างนวัตกรรม ผลักดันให้เค้าได้มีโอกาสได้สร้างนวัตกรรม สร้างโปรดักส์ของตัวเอง ที่ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเติบโตเพิ่มขึ้น” นายณัฐพล กล่าว
สำหรับพื้นที่ ARI Co-Innovation space ที่จะเปิดให้บริการบนพื้นที่ 400 ตารางเมตร ที่ อาคารซอฟต์แวร์ พาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ นอกจากจะให้บริการ Co-Working Space แล้ว ยังรองรับการสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการ (Service Robot) เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเกษตร ภายใต้โครงการ AI INNOVAION JUMPSTAR มีการสร้างห้องทดลอง (Lab) เพื่อทดสอบมาตรฐาน เพื่อรองรับธุรกิจในการตรวจสอบมาตรฐาน สามารถสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น
“เราเป็น One Stop Service บริการที่จุดเดียว ผู้เข้ามาใช้บริการ มีปัญหาทางด้านเทคนิค เราสามารถเชื่อมโยงไปยัง สวทช. และเครือข่ายต่างๆ ได้ ในเชิงธุรกิจต้องการหาพี่เลี้ยง ต้องการหาที่ปรึกษามาช่วยในเรื่องของธุรกิจ เรามีการเชื่อมโยงให้กับผู้ประกอบการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน” นายณัฐพล กล่าว