Software Park News
DECC และ TD-X Center ศูนย์ฯช่วยพัฒนาต้นแบบ สานรับบริการ Co-Working Space กระตุ้นธุรกิจดิจิทัล
ศูนย์บริการ
ปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (Design & Engineering Consulting Service Center) หรือ DECC และศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว (Thailand Science Park & depa Acceleration Center) หรือ TD-X Center
เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นหน่วยงานที่ร่วมกับ Co-Working Space ของเขตอุตสาหกรรมประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค
ในการช่วยสตาร์ทอัพ ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอีที่ต้องการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
นางสาว จิรพร ศุภจำปิยา ผู้จัดการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (Design & Engineering Consulting Service Center) หรือ DECC และศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว (Thailand Science Park & depa Acceleration Center) หรือ TD-X Center กล่าวว่า DECC เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านออกแบบวิศวกรรม และผลิตผลงานที่เกี่ยวกับ งานออกแบบด้านวิศวกรรม งานต้นแบบชิ้นส่วนยานยนต์ งานออกแบบต้นแบบของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลก ระบบจัดเก็บแบตเตอรี่ (Battery Storage) เป็นต้น
DECC มีนโยบายในการให้บริการทางด้านวิศวกรรม และออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบรองรับ 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย การออกแบบนวัตกรรมรองรับธุรกิจอาหารริมทาง (Street food) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับร้านอาหารริมทางโดยมีการออกแบบรถเข็นที่มีถังระบบกรองน้ำเสีย ถังดักไขมัน อ่างล้างมือ เครื่องดูดควัน สามารถใช้ได้กับธุรกิจอาหารทุกประเภทที่ขายริมทางเท้า ที่ผ่านมา DECC มีการพัฒนารถเข็นรักษ์โลกสำหรับร้านค้าและธุรกิจริมทางเท้าแล้วประมาณ 200 คัน อาทิ ร้านอาหารเยาวราช และตลาดน้อย เป็นต้น และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบ ระบบบำบัดกลิ่นและควัน ถังบำบัดน้ำเสีย ถังดักและกรองไขมันแบบเคลื่อนที่ คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ DECC ยังมีแผนที่จะถ่ายทอดสิทธิ์ (Licensing) และถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่บริษัทหรือผู้ประกอบการผลิตรถเข็นให้สามารถผลิตและจำหน่ายรถเข็นเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดอีกด้วย
นางสาว จิรพร ศุภจำปิยา กล่าวว่า “เราอยากจะสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้กับธุรกิจอาหารริมทาง ณ ปัจจุบัน รถเข็นรักษ์โลกมีราคาค่อนข้างสูง เรามีการคุยกับผู้ผลิตเพื่อหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันราคาขายต่อคันอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท อยากจะทำราคาให้ลดลงเหลือประมาณ 20,000- 30,000 บาทต่อคัน” สำหรับบริการที่ 2 เป็นการพัฒนาออกแบบเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การพัฒนาโคมไฟเสาโซล่า โดยเฉลี่ยมีผู้ประกอบการมาขอใช้บริการประมาณ 20 รายต่อปี ในส่วนของบริการที่ 3 นั้น เป็นการให้บริการโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ มีสิทธิบัตรเรื่องการออกแบบโรงเรือนเรียกว่า พฤกษาสบาย เป็นโรงเรือนที่สามารถระบายอากาศได้ด้วยตัวเอง มีอุณหภูมิข้างในและข้างนอกโรงเรือนเท่ากัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำประโยชน์สูงสุดจากการใช้โรงเรือนอัจฉริยะ เช่น การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกกัญชา และบริการที่ 4 DECC ได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำระบบจัดเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage) จากโรงไฟฟ้าทางเลือก ซึ่งประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและโซล่าเซลล์ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ประกอบการด้วย
นางสาว จิรพร ยังกล่าวต่ออีกว่า “สำหรับ TD-X Center เป็นศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็วที่เน้นให้บริการผู้ประกอบการใหม่ สตาร์ทอัพ รวมถึง ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ต้องการจะนำเทคโนโลยีไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับการต่อยอดการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด ศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็วนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่สามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและจับคู่ (Matching) ระหว่างนักวิจัย นักพัฒนาและผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับการปรึกษา ออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลิตชิ้นงานในเบื้องต้น ก่อนที่จะต่อยอดการพัฒนาไปเป็นสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาด และคาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าว จะสามารถออกสู่ตลาดได้ปลายปีนี้”
TD-X Center ในปัจจุบัน ได้ให้บริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงรับผลิตชิ้นงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 3D Printing เป็นต้น “เรา เป็นเหมือนผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ให้คำปรึกษา ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้กับสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ที่อยากจะผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านนวัตกรรมออกสู่ตลาด ที่ผ่านมามีการจับคู่ผู้เชี่ยวชาญและหมอที่จะทำต้นแบบในการทำชุดตรวจ ATK ด้วยเครื่อง 3D Printer ทำให้สามารถลองพิมพ์ชิ้นงานออกมาเพื่อตรวจสอบก่อนที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ด้วยการลงทุนในหลักร้อยและใช้เวลาในการผลิตชิ้นงานไม่ถึง 1 วัน” นางสาว จิรพร กล่าว “ปัจจุบันมีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมให้คำปรึกษามากกว่า 100 คนและมีเป้าหมายที่จะเพิ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้ได้จำนวน 300 คน”
สำหรับความร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ที่จะมีการเปิดบริการ Co-Working Space นั้น เป็นความร่วมมือที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่จะใช้บริการพื้นที่ของ Co-Working Space ในการทำธุรกิจและ Co-Working Space จะเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ประกอบการ สามารถได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในส่วนของการให้คำปรึกษา ออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจ
“ ความร่วมมือกับซอฟต์แวร์พาร์ค เราสามารถทำในเรื่องของฮาร์ดแวร์ดีไซน์บางอย่างขึ้นมาใช้เองในประเทศได้และสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง จะช่วยทำให้ปักหมุดของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเป็นสินค้านวัตกรรมที่สามารถขายได้จริงในประเทศได้ ดังนั้นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานมองว่าเป็นสิ่งเติมเต็มซึ่งกันและกัน และเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้เกิดอีโคซิสเต็มในประเทศในการสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์เกิดขึ้น เป็นจุดหนึ่งที่จะเป็นการเชื่อมต่อคนอยากทำมากขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยมีต้นแบบนวัตกรรมเยอะขึ้น มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากขึ้น และคาดว่าจะมีการผลิตสินค้านวัตกรรมให้กับประเทศปีละ 500 ชิ้นและเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายในตลาดประมาณ 50 ชิ้นต่อปี ลูกค้าที่มาตอนนี้เป็นกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์เยอะที่สุด เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ อันดับสองคือการพัฒนากระบวนการผลิตด้านยาและสมุนไพร” นางสาว จิรพร ผู้จัดการ DECC และ TD-X กล่าว