Software Park News
สวทช.ร่วมกับเครือข่ายฯ จัดสัมมนา RoboIoT Certify : ปลดล็อคมาตรฐานระดับสากล
(1 สิงหาคม 2567) สวทช.ร่วมกับเครือข่ายฯ จัดสัมมนา RoboIoT Certify : ปลดล็อคมาตรฐานระดับสากล พร้อมเปิดโอกาสให้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ยื่นขอรับทุนสนับสนุนเพื่อเข้ารับการทดสอบมาตรฐาน หุ่นยนต์บริการ และ IoTมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท
ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand: SWP) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา RoboIoT Certify : ปลดล็อคมาตรฐานระดับสากล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากเครือข่ายและผู้สนับสนุน โครงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) ของไทยสู่อาเซียน ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ปลอดภัย ได้มาตรฐาน! แนวทางการส่งเสริม ควบคุม กำกับดูแล” โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่: สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO), ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
ร่วมเสวนาฯ เพื่อสร้างความตระหนักในคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ IoT แก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ถึงแนวทางการควบคุมบังคับใช้ แนวทางการส่งเสริมโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ความพร้อมของศูนย์ทดสอบ รวมถึงสิทธิพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ทั้งยังสร้างความตระหนักรู้ถึงเครื่องหมายการรับรอง P Mark แก่ผู้ประกอบการผู้ผลิตนำเข้าและส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรไทยให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพผ่านการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ P mark
ในการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพของหุ่นยนต์บริการในบ้าน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดสากล โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานโครงการพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ การรับรอง ด้านประสิทธิภาพการใช้งานหุ่นยนต์บริการในบ้าน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการของไทยสู่ตลาดสากล มาร่วมให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่:
มาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินประสิทธิภาพสำหรับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่ใช้ในครัวเรือน IEC 62849:2016 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพหุ่นยนต์บริการ ว่าสามารถทำงานได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนดในมาตรฐานได้อย่างสมบูรณ์
มาตรฐานด้านซอฟต์แวร์ แนะนำขั้นตอนวิธีการขอรับการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO 13482:2014 เป็นข้อกำหนดและแนวทางในการออกแบบ ตัวชี้วัดการป้องกัน และข้อมูลสำหรับการใช้หุ่นยนต์ดูแลมนุษย์ และอธิบายถึงอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการใช้หุ่นยนต์เหล่านี้ และมีข้อกำหนดเพื่อลดหรือลดความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับอันตรายเหล่านี้ไปถึงระดับที่ยอมรับได้ และอันตรายที่สำคัญและอธิบายถึงวิธีการจัดการกับหุ่นยนต์ดูแลส่วนบุคคลแต่ละชนิด รวมถึงการทดสอบตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสภาพแวดล้อมการใช้งานด้วย
มาตรฐานความปลอดภัย (Product Safety) : มาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เป็นข้อกำหนดที่เน้นการตรวจสอบและปฏิบัติตามเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน มาตรฐานอ้างอิงที่ใช้ในการทดสอบความปลอดภัยมีหลายมาตรฐานที่สำคัญ อาทิเช่น
- มอก. 1561-2553 : มาตรฐานนี้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ หรืออันตรายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้
- มอก. 62368 เล่ม 1-2563 , IEC 62368-1 Edition 3.0: 2018-10 : มาตรฐานนี้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยของอุปกรณ์เสียง วีดิทัศน์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเน้นการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- IEC 60950-1: 2013 : มาตรฐานสากลนี้เน้นการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผู้ใช้
- กทช. มท. 5001-2550 : กำหนดโดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน โดยเน้นการทดสอบความเข้ากันได้ของสัญญาณและการป้องกันการรบกวน
มาตรฐานเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ (กสทช. มท. 1035 – 2562) : มาตรฐานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมสามารถใช้งานได้ภายใต้การจัดสรรคลื่นความถี่ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศมาตรฐานใหม่สำหรับเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ชื่อ กสทช. มท. 1035 – 2562 ครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงความถี่วิทยุต่าง ๆ ดังนี้:
- ช่วงความถี่วิทยุ 2.400 – 2.500 GHz: อุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงความถี่นี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน EN 300 328 หรือ FCC Part 15.247
- ช่วงความถี่วิทยุ 5.150 – 5.350 GHz: อุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงความถี่นี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ETSI EN 301 893 หรือ FCC Part 15.407
- ช่วงความถี่วิทยุ 5.470 – 5.725 GHz: อุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงความถี่นี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ETSI EN 301 893 หรือ FCC Part 15.407
- ช่วงความถี่วิทยุ 5.725 – 5.850 GHz: อุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงความถี่นี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ETSI EN 302 502, FCC Part 15.247 หรือ FCC Part 15.407
มาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC): เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะมีการรบกวนจากภายนอก และมาตรฐาน EMC เองก็มีความสำคัญต่อผู้ผลิตในด้านต่างๆดังนี้
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด: ผู้ผลิตจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด EMC เพื่อให้สามารถทำการตลาดผลิตภัณฑ์ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การทดสอบและรับรอง: การทดสอบ EMC โดยหน่วยงานภายนอกและการตรวจสอบรับรองช่วยสร้างความมั่นคงแก่ตำแหน่งทางการแข่งขันในตลาด
- การแสดงเครื่องหมาย CE: ในสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาดจะต้องมีเครื่องหมาย CE เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า
เขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์ประเทศไทย ทิ้งท้ายเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการทดสอบผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ IoT: โครงการนี้มุ่งเน้นการทดสอบและรับรองมาตรฐานในระดับสากลสำหรับผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและ IoT เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน แล้วจุดเริ่มต้นสู่การรับรองมาตรฐานในระดับสากล
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิ์เข้ารับการทดสอบเบื้องต้น Pre-Test ฟรี รวมถึงสามารถขอรับทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายการทดสอบ 75% สูงสุด 200,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) และสามารถนำผลการทดสอบไปใช้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น CE มอก. กสทช. ได้
เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันนี้ - 31 สิงหาคม 2567
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณศิวกร สิริวัฒนานันท์ 02-583-9992 ต่อ 81443
รายนามผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรในงานสัมมนา
- เสวนาในหัวข้อ “ปลอดภัย ได้มาตรฐาน! แนวทางการส่งเสริม ควบคุม กำกับดูแล”
- คุณบวร มากนาคา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- ดร.กรธรรม สถิรกุล กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.), คุณกอบกฤต ชูนวพันธ์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA): บัญชีบริการดิจิตอล , Document บัญชีบริการดิจิตอล.pdf
- คุณวุฒิชัย วิศาลคุณา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
- ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยกานฝ่ายอาวุโสศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
- ดร.พนิตา เมนะเนตร นักวิจัยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ SQUAT ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
- มาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพ โดยคุณวิรยุทธ รังหอม ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
- มาตรฐานความปลอดภัย คุณเรืองฤทธิ์ หนิแหมะ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
- มาตรฐานเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ คุณฉัตรชัย เรืองปรีชา ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
- มาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า คุณอเนก มีมูซอ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
- โครงการส่งเสริมการทดสอบผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ IoT สู่การรับรองมาตรฐานในระดับสากล คุณศิวกร สิริวัฒนานันท์ เขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์ประเทศไทย